ลักษณะการเกิด
ปัญหาสีลอกล่อน การยึดเกาะต่ำของสีทาบ้าน การยึดเกาะของสีบนพื้นผิวเกิดจากองค์ประกอบหนึ่งของสีที่เรียกว่า “สารยึดเกาะ (Binder)” ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกาวที่คอยยึดประสานผงสีและองค์ประกอบของสีให้ติดกัน และเป็นตัวสร้างฟิล์มสีให้สามารถเคลือบพื้นผิวและยึดเกาะกับพื้นผิวได้ มีความคงทนแดด ทนด่าง ทนชื้น และบางชนิดทนสารเคมีและแรงเสียดสีได้
ปัญหาสีลอกล่อน หรือปัญหาการยึดเกาะของสีต่ำ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างฟิล์มสีที่แห้งแล้วกับพื้นผิวที่ฟิล์มสีนั้นยึดเกาะอยู่ โดยสามารถเกิดได้ในหลายลักษณะ อาจหลุดล่อนออกมาบางส่วน ฟิล์มแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือเมื่อสีหลุดล่อนออกมาแล้วสามารถดึงฟิล์มสีให้หลุดล่อนทั้งหมด
สาเหตุ
ปัญหาสีลอกล่อน ของสีทาบ้าน สามารถพบได้ทั้งสีทาภายในและสีทาภายนอก โดยมีสาเหตุการเกิดได้หลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
1. หากพื้นผิวก่อนทาสีทาบ้าน มีการเตรียมพื้นผิวที่ไม่ดี มีคราบสกปรก ฝุ่นละออง คราบไขมัน คราบเชื้อราหรือตะไคร่น้ำ มักจะทำให้การยึดเกาะของสีบนพื้นผิวไม่ดี และเกิดปัญหาสีลอกล่อนตามมา และยังพบบ่อยกับผนังเป็นฝุ่นมาก โดยเฉพาะผนังที่ฉาบเรียบด้วยสกิมโค้ทชนิดผง รอยต่อแผ่นยิปซัมที่มีการฉาบโป๊วรอยต่อด้วยผงยิปซัม หรือเกิดจากพื้นผิวที่เป็นแผ่นผนังสำเร็จรูป ที่อาจจะอมน้ำมันจากแบบหล่อ เช่น แผ่นพรีคาสท์ แผ่น GRC เป็นต้น หากเตรียมพื้นผิวไม่ดี ไม่ได้ทำความสะอาดคราบสิ่งสกปรกเหล่านี้ออกจากพื้นผิว สีก็จะยึดเกาะบนพื้นผิวได้น้อยลง
2. สภาพอากาศก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสีลอกล่อนได้เช่นเดียวกัน สีทาภายนอกจะเจอกับสภาพอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น แสงแดด รังสียูวี ความร้อน ลม ฝน และมลภาวะ ทำให้ฟิล์มสีค่อย ๆ ถูกทำลายไปตามกาลเวลา
3. ฟิล์มสีจะเสื่อมสภาพ การยึดเกาะของฟิล์มสีกับผนังต่ำลง และเกิดปัญหาสีลอกล่อน สีแต่ละชนิดจะมีความทนทานต่อสภาพอากาศต่างกัน การเลือกสีจึงควรเลือกชนิดที่ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี จะช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานของฟิล์มสีได้
4. วิธีการเลือกใช้สีทาบ้านให้เหมาะกับพื้นผิว ก็เป็นอีกข้อควรระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสีลอกล่อน เพราะสีบางชนิดก็ไม่แนะนำให้ทาบนพื้นผิวบางประเภท
วิธีการแก้ไขปัญหาสีลอกล่อนและการยึดเกาะต่ำ
1. ขูดลอกฟิล์มสีเก่าที่เสื่อมสภาพ หรือลอกล่อนออกให้หมด โดยแนะนำไม่ให้ใช้แปรงลวด ทำความสะอาดผนังให้ปราศจากคราบฝุ่น สิ่งสกปรก คราบไข และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ
2. พื้นผิวต้องไม่มีรอยแตกลายงาหรือรอยแตกร้าว ถ้ามีต้องซ่อมแซมรอยแตกด้วยวัสดุที่มีคุณภาพก่อนการเคลือบสี บริเวณที่มีรอยแตกร้าว ขนาดไม่เกิน 2 มม. ให้ทำการซ่อมแซมรอยแตกด้วยสีโป๊ว นิปปอนเพนต์ วีนิเลกซ์ วอล พัตตี้ และสำหรับรอยแตกขนาดกว้างกว่า 2 มม. ให้อุดโป๊วด้วย เทอร์ราคริล
3. บริเวณที่มีเชื้อราตะไคร่น้ำ ให้ขัดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อรา นิปปอนเพนต์ วีนิเล็กซ์ ไบโอวอช และทาน้ำยาฆ่าเชื้อรา นิปปอนเพนต์ วีนิเล็กซ์ ไบโอวอช ทิ้งไว้ข้ามคืน พื้นผิวก่อนทาสีจะต้องสะอาดและแห้งสนิท หากทำตามมาตรฐานนิปปอนเพนต์ คือ มีปริมาณความชื้นไม่เกิน 6 % โดยเครื่อง Kett รุ่น HI-520 หรือ ไม่เกิน 14% โดยเครื่อง Protimeter Mini และ ค่าความเป็นด่างไม่เกิน 8 (pH 8)
4. ทาสีรองพื้นปูนเก่าจำนวน 1 เที่ยว (ระบบสีทาภายนอกที่แนะนำสำหรับภายนอก: สีรองพื้นปูนเก่า นิปปอนเพนต์ เอ็กซ์เซล ไพรเมอร์ จำนวน 1 เที่ยว ระบบสีทาภายในที่แนะนำสำหรับภายใน: สีรองพื้นสูตรน้ำ นิปปอนเพนต์ อะควา ซีลเลอร์ จำนวน 1 เที่ยว) และทาสีทับหน้าจำนวน 2 เที่ยว (ระบบสีทาภายนอกที่แนะนำสำหรับภายนอก: สีทาบ้าน นิปปอนเพนต์ เวเธอร์บอนด์ จำนวน 2 เที่ยว ระบบสีทาภายในที่แนะนำสำหรับภายใน: สีทาบ้าน นิปปอนเพนต์ แอร์แคร์ จำนวน 2 เที่ยว)
วิธีป้องกัน
ทำงานสีทาบ้านตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยใส่ใจในขั้นตอนการเตรียมพื้นผิว พื้นผิวก่อนการทาสีจะต้องสะอาด ปราศจากคราบฝุ่น สิ่งสกปรก คราบไข และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ และแห้งสนิท ไม่มีรอยแตกร้าว เพื่อป้องกันน้ำและความชื้นซึมเข้าสู่ผนังได้
สำหรับพื้นผิวที่มีฝุ่นผงมาก ได้แก่ ผนังที่ฉาบเรียบด้วยสกิมโค้ทชนิดผง รอยต่อแผ่นยิปซัมที่มีการฉาบโป๊วรอยต่อด้วยผงยิปซัม ให้เลือกใช้ระบบรองพื้นใส ที่มีการแทรกซึมที่ดี เสริมสร้างการยึดเกาะ และความแข็งแรงให้กับผนังก่อนทาสีในชั้นถัดไป
รองพื้นใสสูตรน้ำมัน: นิปปอนเพนต์ เอ็กซ์เซล ไพรเมอร์ จำนวน 1-2 เที่ยว
รองพื้นใสสูตรน้ำ: นิปปอนเพนต์ อะควา ซีลเลอร์ จำนวน 1-2 เที่ยว